หลักการและเหตุผล How to design for costing studies

หลักการและเหตุผล (Justification)

          วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติงานกับบุคคล เพื่อช่วยเหลือบุคคลให้บรรเทาความเจ็บป่วยความทุกข์ทรมาน ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพ ป้องกันโรค ช่วยให้เกิดการมีสุขภาพที่ดี พยาบาลต้องมองคนทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
ในยุคของ Florence Nightingale ได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการดูแลทหารที่บาดเจ็บจากสงครามไครเมียในปี 1858 มาตรฐานการปฏิบัติการดูแลทหารของ Nightingale ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพในการปฏิบัติการพยาบาล เธอเคยกล่าวไว้ว่า “The very elements of nursing are all but unknown” “พยาบาลทำงานยุ่งตลอดเวลา แต่ไม่มีใครรู้ ไม่มีคนเห็น (ฟลอเร้นซ์ ไนติงเกล, 1859)
สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาและดำรงไว้ซึ่งคุณภาพในการปฏิบัติการพยาบาลนั้นเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตบัณฑิตทางการพยาบาลที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะพิเศษที่มีความโดดเด่น บ่งชี้ถึงประสิทธิภาพในกระบวนการ ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ในสาขา/ภาควิชา/คณะเดียวกัน และส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการกับการวิจัยและการบริการวิชาการ สถาบันการศึกษา/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน จึงให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาพยาบาลควบคู่ไปกับ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทุกคน ในทุกสาชาวิชา และทุกหน่วยงานงาน ได้มีโอกาสการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ตรงในการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในบรรยากาศที่เป็นมิตร  ผ่อนคลาย และสร้างสรรค์ โดยคาดหวังว่าหลังจากที่บุคลากรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ในแง่มุมต่างๆ ที่หลากหลาย จะก่อให้เกิดความเข้าใจในความสัมพันธ์ของกิจกรรมต่างๆ ในการผลิตผลผลิตของหน่วยงาน/องค์กร สามารถลดความสูญเปล่าของกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม และตั้งราคาต้นทุนผลผลิต รวมทั้งสามารถลดกิจกรรมซ้ำซ้อนภายในหน่วยงาน/องค์กร นำไปเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำงบประมาณ โดยระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนกับผลการปฏิบัติงาน และให้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายผลผลิตที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว
ฝ่ายวิจัย ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความสำคัญเรื่อง ต้นทุนการศึกษา การบริหารจัดการต้นทุน การคำนวณต้นทุนผลิต หลักการประเมินความคุ้มค่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประเมินต้นทุนและประสิทธิผลของค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มความหลากหลายและศักยภาพในการวิจัยของบุคลากรทุกระดับ จะก่อให้เกิดการถ่ายทอดและประยุกต์ใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีด้านการพยาบาลเพื่อใช้ในการคุ้มครองดูแลสุขภาพของประชาชน และพัฒนาระบบและกระบวนการในการทำงานที่เอื้อให้งานด้านสุขภาพอนามัยบรรลุผลสัมฤทธิ์และสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการที่ดี ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ได้ประสานงานกับศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการประเมินผล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดการอบรมเรื่อง Cost Effectiveness Evaluation (การประเมินต้นทุนและประสิทธิผลของค่าใช้จ่าย) เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2553 ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยเนื้อหาที่กำหนดไว้จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งจะครอบคลุมในเรื่องความสำคัญ แนวคิดหลักการ วิธีการและขั้นตอน ของการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุนและประสิทธิผล Cost Effectiveness Analysis/Evaluation ทั้งนี้ในระยะที่ 1 จะมุ่งเน้นในเรื่องความสำคัญ แนวคิดหลักการ วิธีการและขั้นตอนของการวิจัยด้าน “ต้นทุน” และในระยะที่ 2 จะนำประเด็นในเรื่องประสิทธิผลของค่าใช้จ่ายมาเชื่อมโยงกับการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุนต่อไป

          กลุ่มเป้าหมายจะประกอบด้วยอาจารย์พยาบาล (สาย ก) ทางการศึกษา และหัวหน้างานที่อยู่ฝ่ายบริการในโรงพยาบาล/หัวหน้าหอผู้ป่วย (สาย ข) โดยวัตถุประสงค์หลักของฝ่ายวิจัยฯ คือ ต้องการให้ อาจารย์ สาย ก. สามารถนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในงานการประเมินต้นทุนการเรียนการสอนและการพยาบาลในคลินิก ส่วน สาย ข ต้องการให้สามารถนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้กับงานพยาบาลในคลินิกได้

 
 
ข้อมูลโดย : นายกนกศักดิ์ วงศ์เป็ง(ฝ่ายฝึกอบรม)