ที่มาและความสำคัญ

 ปัจจุบันประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน หลายระดับที่ดำเนินงานด้านเฝ้าระวังพฤติกรรม และแนวโน้มพฤติกรรมในกลุ่มต่างๆ กองระบาดวิทยา (ชื่อเดิมของสำนักระบาดวิทยา) ในปี พ.ศ. 2538 (1,2) ได้นำแนวคิดและวิธีการดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมของกรุงเทพมหานคร กองกามโรค และ AIDSCAP มาประยุกต์และปรับปรุงให้เหมาะสมกับการดำเนินงานเฝ้าระวังในระดับประเทศ (3,4) และได้ดำเนินการเก็บข้อมูลครั้งแรก ในประชากร 4 กลุ่มๆ ละ 350 คนต่อจังหวัด ได้แก่ กลุ่มทหารกองประจำการ กลุ่มคนงานชายและหญิงในโรงงานอุตสาหกรรม และหญิงตั้งครรภ์ ดำเนินการเก็บข้อมูลปีละ 1 ครั้งในเดือนมิถุนายน โดยใช้แบบสอบถาม (Self-administer questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ต่อมาในปี พ.ศ.2539 ได้เริ่มดำเนินการเฝ้าระวังในกลุ่มนักเรียนชายและหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (5) ระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมฯ ได้รับการปรับปรุงระเบียบวิธีการเฝ้าระวัง คำถามเกี่ยวกับพฤติกรรม แนวทางในการดำเนินการเก็บข้อมูล และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อให้ระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมฯ มีคุณภาพดีขึ้น (6,7,8,9,10,11) ในปี พ.ศ. 2546 สำนักระบาดวิทยามีแนวคิดที่จะเพิ่มประชากรกลุ่มนักศึกษาอาชีวศึกษาเข้ามาเป็นประชากรเฝ้าระวัง เพื่อเพิ่มความครอบคลุม (Coverage) ของการเฝ้าระวังพฤติกรรมฯในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งจะทำให้เข้าใจสถานการณ์ด้านพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มวัยรุ่นได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ได้ทำการพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ มาใช้เพื่อการเก็บข้อมูลพฤติกรรม โดยได้ทำการศึกษาเพื่อประเมินความเที่ยงตรงและความเป็นไปได้ของการนำเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือมาใช้ในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มวัยรุ่นในจังหวัดเชียงราย ผลการศึกษาพบว่า คอมพิวเตอร์มือถือเป็นเครื่องมือที่ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพและช่วยให้การเก็บข้อมูลมีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว และในปีต่อมาก็ได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือมาใช้ในการเก็บข้อมูลในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และปีที่ 5 ด้วย

     สำนักระบาดวิทยา ได้เล็งเห็นความสำคัญของประชากรเป้ากมายเหล่านี้ จึงได้พัฒนาระบบการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอ็ชไอวี เมื่อปี พ.ศ. 2547 (12) เพื่อติดตามแนวโน้มพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ซึ่งจะมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้ในการประเมินโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มประชากร รวมถึงสามารถวางแผนรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคเอดส์ได้ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด

     ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายในระบบเฝ้าระวัง ประกอบด้วย 1) ประชากรทั่วไป 2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 3) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 4) นักเรียนอาชีวศึกษาชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ 2  5) พนักงานในสถานประกอบกิจการ  6) หญิงตั้งครรภ์ 7) หญิงขายบริการทางเพศ และ 8) ทหารกองประจำการ

     หากศึกษาถึงโอกาสในการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง จำเป็นต้องประเมินภาพรวมทั้งระบบ ทั้งด้านผลลัพธ์ของโครงการเฝ้าระวังฯ ด้านผลผลิตของระบบเฝ้าระวังฯ จากข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรม และแนวโน้มพฤติกรรมในกลุ่มต่างๆ ด้านปัจจัยนำเข้า งบประมาณ และบุคลากร โดยอาศัยกระบวนการประเมินในสี่องค์ประกอบของระบบเฝ้าระวังคือ
1) การประเมินปัจจัยนำเข้าของระบบเฝ้าระวัง 2) การประเมินกระบวนการดำเนินงานระบบเฝ้าระวัง 3) การประเมินผลผลิต และ 4)การประเมินผลลัพธ์ของระบบเฝ้าระวัง  เพื่อทราบถึงข้อมูลพื้นฐาน  ปัญหาอุปสรรค และปัจจัยส่งเสริมการมีอยู่ การเข้าถึง และความครอบคลุม ของโครงการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี ของหน่วยงานในประเทศไทย และการนำไปสู่การนำเสนอข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อตอบสนองเป้าหมายของยุทธศาสตร์บูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ ปี 2555-2559 ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการติดตาม ประเมินผล และศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ โดยดำเนินการศึกษาเพื่อหาคำตอบในประเด็นดังกล่าว

 
 
 

ศูนย์วิจัยเศษฐศาสตร์สาธารณสุขและการประเมินผล
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
420/1 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400.โทร.02-6409853