โครงการวิจัยการควบคุมกำกับและประเมินผลการพัฒนารูปแบบและกลไกรณรงค์
เพื่อป้องกันปัญหาเอดส์ ในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
Monitoring and Evaluation Research on Model Development and Redefine Mechanisms for AIDS Prevention and Alleviation in Youth and other Most at Risk Population     

4.ตัวชี้วัด และเป้าหมาย

โครงการพัฒนารูปแบบและกลไกรณรงค์เพื่อป้องกันปัญหาเอดส์นั้น เป็นโครงการที่มีลักษณะกึ่งวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) คือมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาพร้อมๆ กับการสังเคราะห์ความรู้ที่ได้จากปฏิบัติการต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น เพื่อนำไปสู่ประสิทธิผลในการจัดการกับปัญหาที่ดีขึ้น แม้ว่าเป้าหมายสูงสุดของโครงการฯ คือการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย(กลุ่มศาสนา กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย กลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายและชาติพันธุ์ กลุ่มพนักงานบริการ กลุ่มเยาวชน และกลุ่มเครือข่ายองค์กรและเครือข่ายผู้ติดเชื้อ) และเมื่อสิ้นสุดโครงการในส่วนของการแก้ไขปัญหา และในส่วนของข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย มีเป้าหมาย/ตัวชี้วัด (ข้อตกลงระหว่าง สปสช กับ สวรส แล้ว จะเห็นว่าเป้าหมายที่จะต้องประเมินให้ สปสช. มี 4 ข้อ) คือ
              1. จำนวนประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับข้อมูลข่าวสารการป้องกันโรคเอดส์ ผ่านเครือข่ายองค์กรต่างๆ และช่องทางต่างๆ รวมทั้งสื่อสาธารณะ (5 ล้านคน)
              2. อัตราส่วนของกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการที่มีความตระหนักและมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเอดส์ รวมทั้งความเสี่ยงและการป้องกัน (80 เปอร์เซ็นต์)
              3. จำนวนจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกลไกขับเคลื่อนและสนับสนุนทรัพยากรในการป้องกันโรคเอดส์ (8 จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 20 แห่ง)
              4. ข้อเสนอแนะรูปแบบและกลไกรณรงค์เพื่อป้องกันปัญหาเอดส์ ที่สังเคราะห์จากการดำเนินงานในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ
              จากมติที่ประชุม คณะทำงานวิชาการ และคณะทำงานภาคสนาม โครงการวิจัยการควบคุม กำกับ และประเมินผล“โครงการพัฒนารูปแบบและกลไกรณรงค์ เพื่อป้องกันปัญหาเอดส์ในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ วันที่ 18 สิงหาคม 2552 เวลา 10.00 – 13.30 น. ณ ห้องประชุมกองการเจ้าหน้าที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายแพทย์ศุภชัย ฤกษ์งาม เป็นประธาน คือ
              - ประเด็นที่ 4: ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและวิชาการในเรื่องรูปแบบและกลไกรณรงค์เพื่อป้องกันปัญหาเอดส์ ที่สังเคราะห์จากการดำเนินงานในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ เป็นประเด็นสำคัญที่สุดของกลยุทธ์ที่ 2 นี้
              - การเก็บข้อมูลขอให้พิจารณาความเป็นตัวแทนทั้ง 2 ส่วนคือ โครงการ และ กลุ่มประชากรเป้าหมาย
              - การลงพื้นที่ pre-survey นอกจากไปแนะนำโครงการและแนะนำตัวแล้ว คณะทำงานภาคสนามจะมีข้อคิดมาใช้ใน การปรับ/สร้างเครื่องมือ และเกิดความมั่นใจในการพัฒนาโครงการในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย